เกาะประชุม “อีซีบี-บีโอเจ” ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันบาทอ่อนค่าต่อ

เกาะประชุม “อีซีบี-บีโอเจ” ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันบาทอ่อนค่าต่อ

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 37.90-38.70 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ประชุมอีซีบี-บีโอเจ” ส่งสัญญาณแทรกแซงค่าเงิน ลุ้นตัวเลขใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ-ยุโรป ตลาดคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หนุนตลาดปิดรับความเสี่ยงดันเงินดอลลาร์แข็งค่า ด้านฟันด์โฟลว์เห็นแรงเทขายบอนด์หลังเด้งรับบอนด์ยีลด์พุ่งราว 5 พันล้านบาท

เกาะประชุม

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 24-28 ตุลาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 38.00-38.50 บาทต่อดอลลาร์
โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท จะเป็นการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยคาดว่าอีซีบียังคงเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดจะให้ความสำคัญในเรื่องของมุมมองต่อเศรษฐกิจและวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินยูโร รวมถึงตลาดติดตามการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรจะเป็นใคร

ขณะที่การประชุมของบีโอเจ มองว่าปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลการประชุม เพราะคาดว่าจะยังนโยบายการเงินไว้ แต่จะเป็นเรื่องของการแทรกแซงค่าเงินเยน ซึ่งมีโอกาสเห็นเงินเยนไหลจาก 150 เยนไปแตะ 160 เยนต่อดอลลาร์ได้ โดยทางการญี่ปุ่นอาจใช้จังหวะในการประชุมในการเข้าไปดูแลค่าเงินได้ จึงต้องติดตามว่าผลจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ จะมีตัวเลขดัชนี PMI ของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตลาดจะโฟกัสทั้ง 2 ตัว เพราะหากตัวเลขออกมาแย่กว่าคาด จะทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk off) หันไปถือดอลลาร์ดันดอลลาร์แข็งค่าต่อได้

“หากไม่มีปัจจัยมากระทบเชื่อว่าเงินบาทจะไม่หลุดแนวต้าน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากหลุดกรอบก็มีความเป็นไปได้ที่จะวิ่งไปแตะ 38.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องรอดูจะเป็นโฟลว์จากทองคำ ซึ่งหากราคาไหลลงจากแนวรับ 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแรงกดดันเงินบาท”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 2,000 ล้านบาท ถือว่าตลาดหุ้นไทยลงน้อยกว่าตลาดอื่น และสามารถยืนเหนือระดับแนวรับได้ ทำให้ดัชนี SET Index ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มในสัปดาห์นักลงทุนอาจจะไม่ได้เข้ามากอยู่ในหลักพันล้านบาท เนื่องจาก Sentiment ตลาดยังไม่ค่อยมี
ด้านตลาดพันธบัตร (บอนด์) ในสัปดาห์ผ่านมา พบว่า นักลงทุนขายสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนไปแตะ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะเห็นการเทขายบอนด์ระยะยาว ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ระยะยาวปรับขึ้น โดยบอนด์อายุ 10 ปี ขึ้นไปประมาณ 0.3% ถือว่าขึ้นค่อนเยอะ เป็นผลมาจากคอมเมนต์เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางสำคัญในเรื่องของการขายบอนด์เพื่อแทรกแซงค่าเงิน

อย่างไรก็ดี ทิศทางตลาดบอนด์ในสัปดาห์หน้า มองว่ายีลด์ของไทยขึ้นไปค่อนข้างเยอะแล้ว คาดว่าจะมีแรงเทขายบ้างแต่ไม่สูงถึงระดับหมื่นล้านเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีแรงเทขายประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยังมีแรงกดดันค่าเงินบาทอยู่เช่นกัน

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 37.90-38.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ และการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.ย.ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญรายการสุดท้ายก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% และมีโอกาสสูงที่จะขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 27 ตุลาคม และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ส่วนของไทยจะมีข้อมูลดุลการค้าเดือนกันยายนจากกระทรวงพาณิชย์
“จับตาบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะการลดพอร์ตบอนด์ทั่วโลกอีกครั้ง” นางสาวรุ่ง กล่าว