เชื้อราแมว ภัยร้ายต้องระวัง ก่อนจะติดทั้งเหมียวและเจ้าของ
เชื้อราแมว ภัยร้ายต้องระวัง ก่อนจะติดทั้งเหมียวและเจ้าของ
ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเชื้อราแมว โรคผิวหนังของแมว ที่สามารถติดต่อได้ทั้งแมวและคน
เชื้อราแมว ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากแมวสู่แมว และจากแมวสู่คน แถมยังลามได้รวดเร็วอีกต่างหาก แต่เชื้อราแมวเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน และรักษาได้ไหม ตามไปหาคำตอบกันเลย
เชื้อราแมว เกิดจากอะไร
เชื้อราแมว (Cat Fungus) เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Microsporum Canis โดยเฉพาะสายพันธุ์แมวขนยาวจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าสายพันธุ์แมวขนสั้น เช่น แมวเปอร์เซีย
ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเกิดความชื้นสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเป่าขนไม่แห้งสนิทหลังอาบน้ำ ปล่อยให้แมวออกไปเล่นนอกบ้านตามพื้นดินหรือหญ้าแล้วไม่ทำความสะอาดขน รวมทั้งยังเกิดจากการสัมผัสกับแมวที่เป็นพาหะ
เชื้อราแมว มีอาการอย่างไร
เชื้อราแมว มีทั้งที่ไม่แสดงอาการและแบบแสดงอาการ โดยผิวหนังจะมีลักษณะแห้ง แดง ลอกเป็นสะเก็ดคล้ายรังแค ขนร่วงเป็นหย่อม ๆ ขนาด 1-8 เซนติเมตร และมีขุยรอบ ๆ ทั่วตัว หากเกาแล้วไปสัมผัสส่วนอื่นก็จะติดเชื้อเพิ่มได้ นอกจากนี้แมวอายุน้อยหรือแมวที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการเยอะกว่าแมวทั่วไป
วิธีรักษาเชื้อราแมว
การรักษาเชื้อราแมว มีทั้งการให้ยากินและยารักษาภายนอก เช่น ยาฆ่าเชื้อเฉพาะทาง ซึ่งมีทั้งแบบสเปรย์ แชมพู และครีมทาผิวหนัง หรืออาจจะให้ควบคู่ไปกับยากิน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ดูแล
แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างทำการรักษา เจ้าของแมวก็ควรหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยอาจใช้สารฆ่าเชื้อต่าง ๆ ร่วมด้วย
การป้องกันเชื้อราแมว
– หมั่นอาบน้ำให้แมวอย่างสม่ำเสมอ และเป่าขนให้แห้งสนิททุกครั้ง
– ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำแมวที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อรา
– ทำความสะอาดบ้านและบริเวณที่อยู่อาศัยของแมวเป็นประจำ
– พาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา
– หากสัตว์เลี้ยงตัวใดในบ้านมีความผิดปกติควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์
แนะนำข่าวสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม : กระต่าย สัตว์เลี้ยงที่รักสะอาด